จุกนกยูง ๒

Eriocaulon siamense Moldenke

ชื่ออื่น ๆ
ข้าวตอก (เลย)
ไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปี ลำต้นสั้นมากหรือเป็นเหง้าสั้น ๆ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปแถบ สีเขียวอมแดง ไม่มีก้านใบดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกโดด ที่ปลายก้านเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น รูปครึ่งวงกลมถึงรูปทรงกลมสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู เมล็ดรูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ สีเหลืองอมน้ำตาล

จุกนกยูงชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวหรือหลายปีลำต้นสั้นมากหรือเป็นเหง้าสั้น ๆ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๑.๕ มม. ยาว ๑-๔ ซม. เกลี้ยงหรือมีปุ่มเล็ก ปลายแหลม โคนหุ้มลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบ สีเขียวอมแดง เส้นใบมีจำนวนมากและขนานไปกับขอบใบ ไม่มีก้านใบ

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกโดด มีจำนวนมากก้านช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. กาบหุ้มก้านช่อดอกยาว ๒-๕ ซม. สีเขียวอมแดง เกลี้ยงหรือมีปุ่มเล็ก ปลายกาบแหลม


ที่ปลายก้านเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น รูปครึ่งวงกลมถึงรูปทรงกลม สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๙ มม. ยาว ๕-๗ มม. เกลี้ยง ฐานดอกร่วมรูปคล้ายกระบองใบประดับรูปไข่กลับถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีน้ำตาล เกลี้ยงหรือมีขนสีขาวเล็กน้อยที่ส่วนปลาย ปลายมน เรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้นใบประดับย่อยรูปใบหอกกลับ ยาว ๑.๕-๒ มม. สีดำ มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย ปลายเรียวแหลม แต่ละดอกมีกลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ดอกเพศผู้มีกลีบรวมชั้นนอกเชื่อมกันเป็นรูปคล้ายกาบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีดำ ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ปลายแหลมหรือมน มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย กลีบรวมชั้นในเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขนาดไม่เท่ากันแฉกหนึ่งยื่นยาวกว่าใบประดับย่อย โค้งพับลง มีขนสีขาวที่ปลายแฉก อีก ๒ แฉกมีขนาดเล็กกว่า ปลายแหลมมีขนสีขาวที่ปลายแฉก มีต่อมสีดำบริเวณปลายแฉกเกสรเพศผู้ ๖ เกสร อับเรณูสีดำ ดอกเพศเมียมีกลีบรวมชั้นนอก ๓ กลีบ รูปใบหอกกลับ แคบ ปลายหนาแหลม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีดำ มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย กลีบรวมชั้นใน ๓ กลีบ รูปรีฐานสอบเรียว ปลายแหลม กลีบหนึ่งยาวประมาณ ๓ มม. ยื่นยาวกว่าใบประดับย่อย โค้งพับลง อีก ๒ กลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. สีน้ำตาล มีขนสีขาวบริเวณส่วนกลางจนถึงส่วนปลาย มีต่อมสีดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ เส้น

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. ผนังบาง มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดรูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ สีเหลืองอมน้ำตาล

 จุกนกยูงชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นตามทุ่งหญ้าดินทราย ลานหินทรายที่ชุ่มน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จุกนกยูง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eriocaulon siamense Moldenke
ชื่อสกุล
Eriocaulon
คำระบุชนิด
siamense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Moldenke, Harold Norman
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Moldenke, Harold Norman (1909- )
ชื่ออื่น ๆ
ข้าวตอก (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อมรรัตน์ มีสวาสดิ์